หลักสูตรเตรียมลูกเสือสำรอง

การเตรียมลูกเสือสำรองจะต้อง

                1.   มีความรู้เกี่ยวกับนิยายเรื่องเมาคลี  และประวัติการเริ่มกิจกรรมลูกเสือสำรอง

                2.  รู้จักการทำความเคารพเป็นหมู่  (แกรนด์ฮาวล์)  และระเบียบแถวเบื้องต้น

                3.  รู้จักการทำความเคารพเป็นรายบุคคล  การจับมือซ้าย  และคติพจน์ของลูกเสือ

                4.  รู้จักคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือสำรอง

                หลักสูตรลูกเสือสำรองดาวดวงที่  1,  2  และ  3  จะเห็นได้ว่ามีเนื้อหาเหมือนกันทั้ง 12  เรื่อง  แต่ความยากง่ายก็จะสูงขึ้นตามลำดับขั้น  (ดูรายละเอียดข้อบังคับว่าด้วยการปกครองหลักสูตร  และวิชาพิเศษลูกเสือสำรองประกอบ)  ก่อนที่จะเรียนหลักสูตรดาวดวงที่  1  ต้องเรียนหลักสูตรเตรียมลูกเสือสำรองก่อน  และจะต้องผ่านการทดสอบขั้นต้น  เพื่อขอรับเครื่องหมายลูกเสือสำรอง  ทำพิธีเข้าประกอง  จึงจะนับว่าเป็นลูกเสือสำรองโดยสมบูรณ์  นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายลูกเสือสัมพันธ์สำหรับลูกเสือที่พ้นวัยลูกเสือสำรอง  และพร้อมที่จะสมัครเข้าเป็นลูกเสือสามัญต่อไป

                การลูกเสือสำรอง  คือ  การฝึกอบรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นรายบุคคล  และให้เด็กได้เกิดทักษะบางอย่าง  ช่วยให้เขาได้พัฒนาในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถือเป็นเรื่องพิเศษสำหรับลูกเสือสำรองเท่านั้น  แต่พึงถือว่าเป็นข้อปฏิบัติต่อเนื่องกันไปในกองลูกเสือสามัญ  สามัญรุ่นใหญ่  และวิสามัญ  เพื่อจะได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับตนเองมากยิ่งขึ้น

                การฝึกอบรมลูกเสือสำรองตามหลักสูตรนั้น  มีแผนเพื่อก่อให้เกิดความสมดุล  ดังนี้

                1.  มีการพัฒนาการทางด้านพลานามัย  และมีบุคลิกภาพดี

                2.  สนใจในงานอดิเรกและงานอาชีพ

                3.  รู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

                4.  ยึดมั่นและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสนา

                การสอนก็ดี  การทดสอบก็ดี  ไม่ควรดำเนินการตามแบบแผนมากเกินไป  แต่ควรกำหนดให้งานเป็นโครงการกิจกรรมที่ตื่นเต้น  เหมาะกับวัยของลูกเสือสำรอง  และเสนอสิ่งที่ท้าทายให้เขาได้แสดงความสามารถ

                หลักสูตรลูกเสือสำรองไม่ใช่เครื่องจักร  ซึ่งเด็กทุกคนจะต้องทำในกิจกรรมอย่างเดียวกันเพื่อให้ได้มาตรฐานอย่างเดียวกันหมด  เมื่อกำหนดกิจกรรมแต่ละอย่างตามที่ต้องการไว้อย่างชัดเจน  แล้วเป็นหน้าที่ของผู้กำกับลูกเสือ     จะดำเนินตามจุดมุ่งหมายที่จะนำเด็กไปสู่ความสำเร็จด้วยการยืดหยุ่นตามเหตุการณ์ทำให้กิจกรรมลูกเสือสำรองเหมาะกับเด็ก ๆ  มากกว่าที่จะทำให้เด็ก ๆ  เข้ากับกิจกรรมลูกเสือสำรอง  วิธีนี้จะช่วยให้ผู้กำกับได้ฝึกฝนเด็กแต่ละคนด้วยวิธีการของตนเอง  ในกองลูกเสือตามกระบวนการของเขา  แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องอยู่ในขอบข่ายของหลักสูตรลูกเสือสำรอง

                ผู้กำกับลูกเสือที่อยู่ในชนบทอาจใช้วิธีการต่าง ๆ  ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่  ตัวอย่างเช่น  เด็กที่อยู่ในชนบทอาจให้ผู้ปกครองช่วยเหลือจัดทำสมุดสะสมเกี่ยวกับธรรมชาติศึกษาก็ได้  ตรงกันข้ามกับเด็กในเมืองที่ผู้ปกครองไม่สามารถช่วยเหลือได้  เด็กอาจจะไปยืมสมุดภาพจากกองลูกเสือกองใดกองหนึ่งในชนบท  นำมาอ้างอิงได้ว่าเขาได้พบเห็นธรรมชาติบ้างที่แตกต่างไปจากของเขา   ประการสำคัญอยู่ที่การฝึกเด็กแต่ละคนนั้นให้เหมาะสมกับวัย  ความต้องการ  ความสนใจและความถนัดของเขา  จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาตนเอง  เรียนรู้ด้วยตนเอง

 

ครูศราวุธ  เขื่อนคำ  วุฒิทางลูกเสือ :  L.T.  ตำแหน่งทางลูกเสือ : รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

ครูโรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา ลำพูน  :  นายกสมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูน  
ที่อยู่ สมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูนเลขที่ 450 / 3 หมู่ที่4 ถนนพหลโยธิน(อาคารสำนักงานส่งเสริมวินัยนักเรียน) ตำบลลี้   อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน 51110
Tel : 08-1026-9760   หรือ krutujao_scout@hotmail.com

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ :