กิจกรรมตามหลักสูตรลูกเสือสำรอง(ธงชาติไทยและประเทศต่างๆ)

7.  ธงชาติไทยและประเทศต่าง ๆ

กิจกรรมเกี่ยวกับหลักสูตรลูกเสือสำรอง

ความมุ่งประสงค์

                เพื่อให้ลูกเสือสำรองได้มีความรู้และได้รับการทดสอบเพื่อรับเครื่องหมายดาว

                -  รู้ส่วนประกอบ  ความหมาย  และวิธีชักธงชาติไทย

                -  รู้ประวัติของธงชาติไทยโดยสังเขป

                -  สามารถร้องเพลงชาติ  เพลงสรรเสริญพระบารมี  และรู้จักปฏิบัติเมื่อมีการบรรเลงหรือร้องเพลงชาติไทย  หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี

                -  รู้จักรักษาคุณค่าของธงชาติและธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติไทย

                ธงชาติ  คือ  เครื่องหมายแทนชาติ  แสดงให้รู้ถึงความเป็นเชื้อชาติของชนชาติใดชาติหนึ่ง  ซึ่งรวมกันขึ้นเป็นกลุ่มก้อน  เป็นหมู่  เป็นคณะ  ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความมีอิสรภาพ  เกียรติ  อำนาจ  และการคุ้มครองอาณาบริเวณของแต่ละชาติ  ชาติเอกราชเท่านั้นที่มีธงประจำชาติได้

ส่วนประกอบ

                ธงชาติไทยเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาดกว้าง  6  ส่วน  ยาว  9  ส่วน  ด้านกว้างแบ่งเป็น  6  ส่วนเท่า ๆ  กัน  2  ส่วนตรงกลางเป็นแถบสีขาบหรือสีน้ำเงินต่อจากสีน้ำเงินออกไป  2  ข้าง ๆ  ละ  1  ส่วน  เป็นแถบสีขาว  ต่อจากแถบสีขาวเป็นสีแดง  รวมเป็น  3  สี  เรียก  “ธงไตรรงค์”

 

ความหมาย

                -  สีแดง  เป็นสีของเลือด  แทนชาติ  ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อฟันฝ่าข้าศึกศัตรู  รักษาแผ่นดินให้คงอยู่เป็นปึกแผ่นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

                -  สีขาว  เป็นสีแห่งความบริสุทธิ์สะอาด  แทนศาสนา  อันเป็นที่เคารพสักการะของเรา  ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคน  คำสอนของศาสนาทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม  กระทำด้วยความบริสุทธิ์สะอาดทั้งกาย  วาจา  ใจ 

                -  สีน้ำเงิน  (หรือสีขาบ)  เป็นสีแห่งความเป็นใหญ่  สมมติแทนองค์พระมหากษัตริย์  ผู้เป็นประมุขของชาติไทย  ซึ่งเป็นที่รวมจิตใจของคนทั้งชาติ  (เป็นสีแห่งวันประสูติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้ทรงประกาศใช้  “ธงไตรรงค์”  เป็นธงชาติไทย)

วิธีชักธงชาติไทย

                จัดลูกเสือหมู่บริการ  2  คน  ไปเชิญธงชาติให้เดินไปยังเสาธง  หยุดยืนห่างเสาธงประมาณ  3  ก้าว  ทั้ง  2  คน  ทำวันทยหัตถ์พร้อมกัน  แล้วคนหนึ่ง  (ควรเป็นคนทางขวามือ)  ก้าวไปข้างหน้า  2  ก้าว  (ห่างจากเสาธงประมาณ  1  ก้าว)  ยืนเท้าชิดกัน  แก้เชือกที่ผูกธงออกแล้วถอยหลังกลับที่เดิม  ผู้กำกับสั่งทำความเคารพ  “แพ็ค-วันทยหัตถ์”  หมู่บริการนำร้องเพลงชาติ  2  คนช่วยกันเชิญธงขึ้น  (ผืนธงอยู่ทางขวาของผู้เชิญ)  พอธงชาติขึ้นถึงยอดเสาแล้ว  ให้คนหนึ่งนำเชือกไปผูกติดกับเสา  (มักใช้คนเดิมที่ไปแก้เชือก)  อีกคนหนึ่งยืนคอยในท่าตรง  เมื่อผูกเชือกเสร็จแล้วให้ถอยหลังมาเข้าที่เดิม  ทั้ง  2  คนทำวันทยหัตถ์พร้อมกัน  แล้วลดมือลง  กลับหลังหันวิ่งไปเข้าที่ของตนในแถว  ทำวันทยหัตถ์เหมือนลูกเสือในแถว  ซึ่งยังทำวันทยหัตถ์อยู่  ผู้กำกับสั่ง “มือลง”  ลูกเสือจึงลดมือลงพร้อมกัน

ประวัติธงชาติไทยโดยสังเขป

                ธงชาติไทยแต่โบราณมีกล่าวไว้ตามหนังสือวรรณคดีต่าง ๆ  ว่า  เป็นรูปธงสามชายปลายงอนเป็นกนก  และมักมีสีต่าง ๆ  ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช)  ไทยเราได้ใช้ธงสีแดงล้วนเป็นสีประจำชาติ  ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  (รัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่  1)  วิวัฒนาการเกี่ยวกับธงได้ก้าวเข้ามาสู่อารยธรรมแผนใหม่  คือ  เปลี่ยนรูปลักษณะ  เปลี่ยนสี  มีการประดับประดาเครื่องหมายประกอบ  ให้ดูงาม  และมีความหมายเกี่ยวกับราชสกุลวงศ์  คือ  มีรูปจักรอยู่ตรงกลางผืนผ้าสีแดง  (รูปจักรหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์)

                ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่  2  ได้ช้างเผือกอันมีลักษณะงามประเสริฐมาสู่พระบารมีถึง  3  เชือก ซึ่งนับเป็นพระเกียรติยศสูงยิ่ง  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้เพิ่มรูปช้างสีขาว  งาคู่  ไว้ในกลางวงจักรบนผ้าผืนสีแดง  ส่วนเรือเดินทะเลไทยก็ยังคงใช้ธงสีแดงอยู่ตามเดิม

                เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่  4  สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น  เรือที่เข้ามาค้าขายติดต่อก็พลอยชักธงชาติของไทยไปด้วย  รัชกาลที่  4  จึงทรงให้เปลี่ยนธงเสียใหม่  โดยให้เอารูปจักร  (ซึ่งเป็นเครื่องหมายเฉพาะองค์  พระมหากษัตริย์)  ออกเสีย  จนมาถึงรัชกาลที่  5  ต่อรัชกาลที่  6  ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใช้ในราชการ  และทำให้มีธงต่าง ๆ  เกิดขึ้นอีกมากมาย  เช่น  ธงประจำพระองค์  ธงประจำกอง  ธงประจำตำแหน่ง  ธงราชนาวี  ฯลฯ  เป็นต้น

                ในรัชกาลที่  6  (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)  พ.ศ. 2459  ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1  พระองค์ได้ทรงดำริจะนำกองทัพไทยเข้ากับฝ่ายพันธมิตรร่วมทำสงครามด้วย  จึงทรงเห็นว่าชาติไทยควรมีธงชาติตามแบบอย่างอารยประเทศประการหนึ่ง  กับมีเหตุผลพิเศษส่วนพระองค์ที่เห็นความไม่เหมาะสมสำหรับธงชาติไทยที่มีรูปช้างอยู่บนธงด้วยอีกประการหนึ่ง  พระองค์จึงทรงดัดแปลงชาติจากรูปช้างเผือกพื้นแดงมาเป็นธง  2  สี  6 ส่วน  คือ  แถบแดง  ขาว  แดง  แดง  ขาว  แดง  ใช้เป็นการทดลองอยู่ปีหนึ่ง  พอถึงปี  2460  จึงได้ทรงเปลี่ยนธงชาติใหม่โดยให้เพิ่มสีน้ำเงิน  ซึ่งเป็นสีประจำพระชนมาวารเฉพาะพระองค์ขึ้นอีกสีหนึ่ง  และให้ทำเป็นแถบใหญ่อยู่ตรงกลางอย่างที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้  และให้ชื่อว่า  “ธงไตรรงค์”  (ธงสามสี)

เพลงชาติไทย

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

 

เป็นประชารัฐ  ไผทของไทยทุกส่วน

อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล

 

ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบ  แต่ถึงรบไม่ขลาด  

 

เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี  

 

เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย  ชโย

 

 

 

เพลงสรรเสริญพระบารมี

ข้าวรพระพุทธเจ้า      เอามโนและศิรกราน     นบพระภูมิบาล    บุญญดิเรก

เอกบรมมา จักรินทร์     พระสยามมินทร์   พระยศยิ่งยง 

เย็นศิระเพราะพระบริบาล    ผลพระคุณธรักษา   ปวงประชาเป็นสุขสานติ์     

           ขอบันดาล   ธ ประสงค์ใด  จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย  ดุจ ถวายชัย  ชโย

 

 การปฏิบัติต่อเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี

                ลูกเสือแต่งเครื่องแบบให้ทำวันทยหัตถ์  แต่ถ้าแต่งพลเรือนให้ยืนตรง  และถ้าเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี  เมื่อเพลงจบแล้วควรถวายคำนับด้วย

รู้จักรักษาคุณค่าของธงชาติและธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติไทย

                ธงชาติ  เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวรวมจิตใจคนในหมู่คณะผู้ร่วมชาติ  เป็นสัญญาณแห่งความสามัคคีพร้อมเพรียงทั้งกายใจ  และวิญญาณ  ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ทั้งเป็นเครื่องประดับประดาให้เกิดความสง่างาม  แก่กองทัพ  ขบวนแห่หรือสถานที่ต่าง ๆ  ในยามประดับธง  เป็นสัญญาณแห่งการสดุดีและเคารพ  เป็นอาณัติสำหรับโบกสะบัดแสดงความปีติยินดี  อวยพรต้อนรับหรืออำลาอาลัยรัก  ซึ่งล้วนไปด้วยคุณค่านานาประการ  ฉะนั้นจึงต้องรู้จักรักษาคุณค่าของธงชาติไว้  โดย

                1.  ต้องทำความเคารพเมื่อมีการเชิญธงชาติขึ้น  และเชิญธงลง

                2.  ผู้ที่เชิญธงขึ้นลง  จงระวังอย่าให้ธงถูกพื้นดิน

                3.  ควรเก็บธงไว้ที่สูง  หรือที่สมควร  เช่น  ใส่พานไว้

                4.  เมื่อธงเก่าแล้วต้องเปลี่ยนใหม่ให้สมศักดิ์ศรี

                5.  ไม่เหยียบย่ำทำลายธง

                6.  ไม่นำธงชาติไปใช้ในที่ไม่สมควร  เช่น  เช็ดถูพื้น  ฯลฯ

                7.  ไม่ใช้สีธงชาติเป็นเครื่องอาภรณ์  หรือทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม

                8.  ไม่นำสิ่งใด ๆ  ไปประดับบนผืนธงชาติ

 

ครูศราวุธ  เขื่อนคำ  วุฒิทางลูกเสือ :  L.T.  ตำแหน่งทางลูกเสือ : รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

ครู ชำนาญการพิเศษ(ลูกเสือ) โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา  ลำพูน  : นายกสมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูน  
ที่อยู่ สมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูน    เลขที่ 450 / 3 หมู่ที่4    ถนนพหลโยธิน(อาคารสำนักงานส่งเสริมวินัยนักเรียน)  
ตำบลลี้    อำเภอลี้    จังหวัดลำพูน 51110 Tel : 08-1026-9760  ,  หรือ krutujao_scout@hotmail.com

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ :